top of page

Modern Professional: what do they look like & how do they learn

วันนี้ HRHQ จัดหลักสูตร Individual Development Plan ซึ่งคนสอนก็สนุกเช่นเคย แต่คนเรียนจะสนุกด้วยรึเปล่าไม่แน่ใจ มีเนื้อหาตอนหนึ่งที่คุยกันในห้องสัมนาและคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับพวกเรา ที่ว่า ชีวิตการทำงานของคนในยุคนี้ (ไม่ได้จำกัดว่าเจเนอเรชั่นไหน เพราะทุกวัยต่างต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคดิจิทัลด้วยกันทั้งสิ้น) เป็นอย่างไร และมีเวลาสำหรับการพัฒนาตัวเองมากน้อยแค่ไหน นั่นคือที่มาของอินโฟกราฟิคสองรูปนี้

ในส่วนแรกที่คุยกันคือ การทำงานของคนในยุคที่เส้นแบ่งระหว่างชีวิตส่วนตัวและงานไม่ทราบว่าตัดกันตรงไหน และเป็นยุคที่เราออกจากบ้านแบบไม่มั่นใจสุดสุด ถ้าเราไม่มีสมาร์ทโฟนติดตัวไปด้วยเหมือนเช่นทุกวัน เพราะนั่นหมายความว่า เราอาจจะไม่มีเงินใช้จ่ายเพราะเราไม่ได้เอากระเป๋าสตางค์ออกมา (smart wallet) เราอาจจะใช้เวลาเดินทางนานกว่าปกติเพราะเราไม่มีแผนที่นำทาง (GPS devise) เราอาจจะทำงานได้ช้า เพราะไม่มีห้องสมุดให้หาข้อมูล (search engine & wiki) เราอาจจะทานอาหารไม่อร่อยเพราะไม่มีกล้องถ่ายรูปบอกเพื่อนว่าเราจะทานละนะ (Instragram) เราอาจจะไม่รู้ว่าต้องแต่งตัวอย่างไรให้เหมาะสมกับสภาพดินฟ้าอากาศ (Weather app) เราคงจะเหงา เพราะไม่ได้คุยกับใคร (Social media) เราคงเข้าประชุมสายเพราะไม่มีใครเตือน (Reminder) สุขภาพเราคงจะแย่เพราะเราคงทานอะไรต่ออะไรโดยไม่รู้ว่าต้องเบิร์นออกกี่แคลลอรี่ (Health app) เราคงจะเดินทางไม่ได้ เพราะยังไม่เชคอินให้เพื่อนทราบว่าเราอยู่ห้องรับรองที่สนามบินแล้วนะ ทั้งนี้รายการ “เราคงจะ” อันเนื่องมาจากการลืมสมาร์ทโฟนหนึ่งวันจะยาวเหยียดไม่รู้จบ อย่างที่เราเคยคุยกันในหลายๆ ตอนก่อนหน้านี้ว่า เทคโนโลยีคือดาบสองคม ที่เป็นทั้งคุณและเป็นทั้งสิ่งคุกคาม เพราะเทคโนโลยีคือที่มาคำจำสำคัญของคำจำกัดความชีวิตคนทำงานยุคดิจิทัล

อันได้แก่สามคำหลักคือ ถูกรบกวน (Distracted) ความอดทนต่ำ (impatient) และท่วมท้นถาโถม ( Overwhelmed)

สถิติล่าสุดที่บอกว่า คนไทยใช้เวลากับอินเตอร์เนตวันละ 9 ชั่วโมง 11 นาที และในจำนวนเวลาที่ใช้เกือบสิบชั่วโมงนั้น หมดไปกับ social media โดยเฉลี่ยสามชั่วโมงครึ่ง นั่นคงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมคนทำงานยุคนี้จึงมองว่ามีสิ่งรบกวน (distracted) ในชีวิตมากเหลือเกินเมือเทียบกับเมื่อสามปีก่อนที่คนทำงานมีการเชื่อมต่อกับอินเตอร์เนตโดยเฉลี่ยเพียงแค่ 5 ครั้งต่อวัน และเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 30 ครั้งต่อวันในปี 2561 อีกทั้งคนทำงานยุคใหม่ยังอดใจไม่ได้ที่จะจับสมาร์ทโฟนขึ้นมาดูเกือบร้อยครั้งต่อวัน (เฉลี่ย 9 ครั้งต่อชั่วโมง) สถิติที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งก็คือ คนยุคนี้จะรู้สึกว่าในทุกๆ 5 นาที เขาถูกรบกวนจากแอพพลิเคชั่นที่สร้างขึ้นมาเพื่อช่วยให้มุ่งหวังให้ชีวิตสบายขึ้น ไม่ว่าจะเป็น แพลทฟอร์มในการพูดคุยติดต่อกัน หรือ เครือข่ายสังคมออนไลน์ (Collaboration platform & social media) จนทำให้ไม่มีสมาธิที่จะทำงานให้มีประสิทธิภาพได้ ผลจากการที่มีสิ่งรวบกวนเกิดขึ้นมากทำให้คนทำงานยุคนี้รู้สึกว่าทุกอย่างถาโถมและท่วมท้นไปหมด มีคนจำนวนมาก (2 ใน 3 ) เห็นว่าเวลาทำงานที่มีอยู่ในแต่ละวันไม่พอจะทำงานให้เสร็จอย่างมีประสิทธิภาพ ที่ร้ายกว่านั้นยังมีความเห็นว่า เวลาที่เสียไปในแต่ละวันไม่ได้ทำให้ชีวิตน่าอภิรมย์ หรือ มีส่วนช่วยให้ทำงานได้ดีขึ้นสักเท่าไหร่ หรือพูดให้เข้าใจง่ายกคือ เสียเวลาไปกับเรื่องที่ไม่ควรเสีย ในขณะเดียวกัน คนในยุคนี้มีความอดทนที่จะสนใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ไม่เกินแปดวินาทีเท่านั้น ซึ่งในยุคที่มือถือเริ่มเข้ามีบทบาทกับขีวิตเราใหม่ๆ ในช่วงไม่กี่สิบปีก่อน ความอดทนของคนยังยาวถึง 12 วินาที ในขณะที่ปลาทองมีความสนใจต่อสิ่งต่างๆ ได้นานถึง 9 วินาทีมาแต่ไหนแต่ไรและไม่เคยเปลี่ยนแปลง ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่โฆษณาในยูทูปจึงไม่ประสบความสำเร็จโดยเฉพาะกับคนไทย ตราบใดที่ยังมีปุ่ม skip ad ให้กดข้าม แม้แต่จะรอให้ครบ 5 วินาทีก่อนจึงจะกดข้ามได้ หลายคนก็รู้สึกว่านานเกินกว่าที่จะรอได้ สถิติอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับ ความอดทนต่ำ ( impatient) ก็คือ คนเราจะสนใจดูสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้นานที่สุดราว 4-5 นาทีเท่านั้น สถิติทั้งสองเรื่องที่พูดถึงมีผลกับการออกแบบการเรียนรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำสื่อช่วยการเรียนแบบเล็กๆ กลืนง่าย (Micro-learning & bite-sized learning) ว่าควรจะต้องดึงความสนใจคนให้ได้ภายในระยะเวลาอันสั้น และควรจะสรุปทุกอย่างให้จบภายใน 4-5 นาที ทั้งนี้ เราคงต้องทำความเข้าใจข้อดีและข้อจำกัดของการเรียบแบบเล็กๆ กลืนง่ายให้ดีก่อนว่าเหมาะกับอะไร เพราะไม่ใช่ว่าสื่อแบบนี้จะใช้ได้กับทุกเรื่อง อะไรที่เป็นความรู้ใหม่ หรือเป็นสิ่งที่ปรับเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างมีนัยยะสำคัญ (significant change) เราต้องเริ่มต้นจาก การเรียนรู้หลัก (Base learning) ที่ต้องออกแบบการเรียนรู้ให้มีการผสมผสานอย่างประสิทธิภาพ (blended learning) อันประกอบไปด้วย การเรียนในห้อง (education 10) การทดลองทำภายใต้การแนะนำ (exposure 20) และ การได้มีโอกาสลองทำในสถานการณ์จริง (experience 70) เพื่อให้เกิดความรู้ใหม่ก่อน จากนั้น จึงผลิตและค่อยๆ ปล่อยการเรียนแบบเล็กๆ กลืนง่ายมาช่วยตอกย้ำเป็นระยะ เพื่อไม่ให้วงจรการลืม (forgetting curve) กัดกินสิ่งที่ได้เรียนมาก่อนเวลาอันควร


สภาพที่เกิดขึ้นทำให้คนทำงานยุคใหม่มีเวลาเพียง 1% หรือ 24 นาที จากเวลาการทำงานในหนึ่งอาทิตย์ (40 ชั่วโมง) สำหรับการเรียนรู้เท่านั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมเราจึงได้ยินแต่คำว่า on-demand และ continuous learning มากขึ้นทุกวัน และสิ่งนี้ได้กลายเป็นมาตรฐานใหม่สำหรับการจัดการเรียนรู้ในยุคดิจิทัล เพื่อให้คนเลือกเรียนได้เมื่อสะดวก และเมื่ออยากเรียน[หรือจำเป็นต้องเรียน] ทั้งนี้ คนยุคใหม่ให้ความสำคัญ และให้คุณค่าในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและการเรียนรู้จากความร่วมมือกันมากกว่ายุคไหนๆ ที่สำคัญ คนยุคใหม่เห็นว่าการเรียนรู้เป็นคุณค่า (value proposition) ที่สำคัญประการหนึ่งของชีวิต หากองค์กรไม่จัดให้ เขาเองก็ยินดีที่จะลงทุนเพื่อการเรียนรู้ด้วยเงินส่วนตัว เพราะเขาเชื่อว่า การเรียนรู้คือการสร้างคุณค่าและเพิ่มโอกาสในชีวิต (enhancing employability)


เมื่อเห็นภาพของคนทำงานยุคใหม่ว่าต้องเจออะไรบ้าง ทำให้เราเข้าใจได้ว่า การเรียนรู้และพัฒนาของคนทำงานยุคใหม่เกิดขึ้นได้ทั้ง ในที่ทำงาน และนอกที่ทำงาน ผ่านช่องทางและสื่อที่หลากหลายซึ่งแตกต่างจากยุคก่อน การเรียนรู้ในที่ทำงานที่เกิดขึ้นทุกวันเกิดจากการทำงานร่วมกับผู้อื่น การรับฟังและนำฟีคแบคจากหัวหน้างานมาปรับใช้ การเรียนรู้จากเพื่อนร่วมงานที่ไม่ใช่พนักงานบริษัทเดียวกัน แต่อยู่ในระบบนิเวศน์เดียวกัน (ecosystem) รวมถึงการสอนหรือถ่ายทอดความรู้ที่เรามีส่งต่อให้คนอื่น สิ่งต่างๆ เหล่านี้คือโอกาสในการพัฒนาตนเองที่เกิดขึ้นตลอดเวลาในที่ทำงาน นอกจากนี้คนรุ่นใหม่ก็ควรจะได้มีโอกาสเรียนรู้จาก ระบบจัดการองค์ความรู้ (Knowledge Management) ชมรมผู้เชี่ยวชาญ (Community of Practices – CoP) และหาพี่เลี้ยงผู้มากประสบการณ์ (Mentor) ดีดีมาชี้แนะให้เขาสามารถเข้าใจและใช้ชีวิตในโลกที่ซับซ้อนได้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ สิ่งที่เคยเป็นวิธีการเรียนรู้หลักในยุคก่อน คือการเข้าเรียนในห้องเรียน ได้กลายเป็น การพัฒนาแบบนานๆ ครั้งสำหรับคนทำงานยุคใหม่ไปแล้ว อันเนื่องมาจากเขามีเวลาเพียง 1% สำหรับการเรียนรู้เท่านั้น

ในส่วนการเรียนรู้นอกที่ทำงาน ที่แต่เดิมไม่ใช่สิ่งที่องค์กรให้ความสำคัญมากนัก กลับกลายเป็นโอกาสในการเรียนรู้ (learning opportunity) ที่องค์กรต้องทำความเข้าใจและสร้างความสะดวกสบายให้พนักงานได้เข้าถึงได้ง่าย ทั้งนี้เพื่อให้ชีวิตนอกที่ทำงานของพนักงาน กลายเป็นโอกาสทองของการพัฒนาอันจะส่งผลดีทั้งต่อพนักงานและกับองค์กรได้ในที่สุด แนวคิดนี้ได้รับการยอมรับและเริ่มปรับใช้อย่างจริงจังในองค์กรใหญ่ๆ ที่เชื่อมโยง แพลทฟอร์มการเรียนรู้ (Learning Management System) ภายในให้ต่อเชื่อมกับทรัพยากรภายนอกที่มีหลากหลายช่องทางและหลากหลายรูปแบบให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น ยูทูป ซึ่งมีเทดทอล์คเป็นตัวชูโรง พอดแคสท์ (podcast) สัมมนาออนไลน์ (webinar) เป็นต้น สิ่งเหล่าอยู่ใกล้ตัวพนักงานตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นระหว่างการเดินทางมาทำงาน หรือ การใช้เวลาในวันหยุด ดังนั้น หากองค์กรวางกลยุทธ์เพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างความน่าสนใจให้พนักงานได้เข้าถึงเนื้อหาเหล่านี้ได้อย่างดี ชีวิตนอกที่ทำงานก็จะกลายเป็น วิธีการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพที่ดีอีกวิธีหนึ่ง โอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาตนเองนอกเวลาทำงานยังรวมถึง การเรียนรู้จากเครือข่าย (network) และ กลุ่มสังคมออนไลน์ ตลอดจนการลงทะเบียนเรียนหลักสูตรต่างๆ ที่จัดที่เปิดให้คนกลุ่มใหญ่เข้าถึงผ่านระบบออนไลน์( Massive Open Online Courses – MOOC) ทั้งการเรียนต่อในระดับปริญญาโท และ การเรียนเพื่อวุฒิบัตรเฉพาะด้าน อันจะมีประโยชน์ในการเพิ่มโอกาสเติบโต (enhancing employability) ที่เป็นแรงจูงใจสำคัญประการหนึ่งของคนทำงานยุคใหม่ดังที่ได้กล่าวถึงไปแล้วก่อนหน้านี้


สิ่งที่เราคุยกันอีกเรื่องหนึ่งในห้องสัมมนาวันนี้ก็คือเรื่อง แรงจูงใจในการเรียนรู้และพัฒนาของคนในยุคใหม่ที่ ไม่ได้มีแค่ การเรียนรู้เพื่อให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพ และเพิ่มเติบโตตามบันไดสายอาชีพขององค์กร (corporate career ladders) เท่านั้น คนทำงานยุคใหม่ต้องการเรียนรู้ เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของวงจรที่สร้างปัญญากลุ่ม (Collective intelligence) เพื่อให้มีหนทางไปต่อ(employability) ที่หลากหลายซึ่งไม่ได้จำกัดไว้เพียงการเติบโตแนวดิ่ง (vertical move) ในองค์กรเท่านั้น แต่คนทำงานรุ่นใหม่พอใจที่จะเคลื่อนย้ายไปในแนวราบ (lateral move) ที่แม้จะไม่มีตำแหน่งสูงขึ้น แต่ถ้าได้ทำสิ่งที่เติมเต็มและตอบโจทย์ชีวิตได้ ก็ไม่ลังเลที่จะทำ


สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นภาวะที่เกิดขึ้นแล้ว และ เกิดขึ้นจริง ซึ่งมีผลต่อการกำหนดกลยุทธ์และแนวปฏิบัติในการพัฒนาบุคลากรอย่างมาก หากองค์กรใดไม่พยายามทำความเข้าใจและยังยึดติดกับแนวทางการจัดการเรียนรู้แบบเดิมๆ นอกจากจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันขององค์กรถดถอยลงแล้ว ยังทำให้องค์กรไม่สามารถรักษาคนที่มีทักษะสูงซึ่งเป็นทรัพยากรที่หายากให้ยุคนี้ไว้ได้อีกด้วย

427 views0 comments

Recent Posts

See All

Comments


bottom of page