top of page

Soft skill as a differentiator

Updated: Feb 5, 2019

โดยส่วนตัวผมเองค่อนข้างไม่เห็นพ้องกับการแบ่งทักษะออกเป็น Soft skills และ Hard skills เท่าไหร่นัก เพราะเป็นการแบ่งที่กว้างและทำให้เกิดความเข้าใจผิด จนหลายครั้ง คนที่ไม่เข้าใจตรรกะในการแบ่งก็จะด่วนสรุปจากความเข้าใจของตนเองว่า Hard skills คือ ทักษะทางเทคนิค ในขณะที่ Soft skills ซึ่งเรียกรวม Generic หรือ Business skill เข้าไปด้วย ว่าคือทักษะทางการสื่อสารและมนุษยสัมพันธ์ จนบางครั้งไปไกลถึงกับสรุปว่า Hard skills สำคัญกว่า Soft skills ซึ่งหากผู้บริหารระดับสูงเชื่อเช่นนั้น จะมีผลต่อรูปแบบการทำงานอื่นๆ ของ HR ด้วย ไม่ว่าจะเป็น การประเมินผลการปฏิบัติงานที่ให้ความสำคัญกับทักษะทางเทคนิคมากกว่า รวมถึงการพิจารณาแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงที่จะให้ความสำคัญกับความสามารถและประสบการณ์ทางด้านเทคนิคมากกว่า ภาวะผู้นำเพราะมีความเข้าใจว่า Leadership คือ soft skills ที่มีความสำคัญน้อยกว่า Hard skill

หลักที่เป็นจุดตัด Hard skills และ Soft skills ที่สำคัญซึ่งยึดถือกันโดยทั่วไปก็คือ (1) ทักษะนั้นสามารถประเมิน วัด ทดสอบได้อย่างเป็นรูปธรรมมากน้อยเพียงใด ซึ่ง Hard skills จะวัดได้ง่ายกว่า (2) ความชำนาญในทักษะนั้นมาจากการถูกสอน หรือจากการสั่งสมประสบการณ์ชีวิต การใช้ Hard skills กับสถานการณ์ต่างๆ จะตรงไปตรงมา ขณะที่การนำ soft skills มาใช้จำเป็นต้องเข้าใจบริบทและประยุกต์ให้เหมาะสม (3) ทักษะนั้นมาจากสมองซีกไหน หากมาจาก สมองซีกซ้ายถือเป็น Hard skills และ สมองซีกขวา คือ Soft skills (4) Soft skill มีความเกี่ยวเนื่องกับบุคลิกภาพ ( Personality) ในขณะที่ Hard skills เป็นเรื่อง professional ที่เจาะจงในแต่ละสาขา ซึ่งตามคำนิยามนี้ ทักษะทางด้านวิศวกรรม (Engineering) ทักษะทางด้านการวิเคราะห์ (Analytics) ทักษะทางวิทยาการหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ (Robot & Artificial Intelligence) ทักษะทางคอมพิวเตอร์โปรแกรมมิ่ง (Computer programming) ล้วนแต่เป็น Hard skills เพราะสามารถวัดและทดสอบได้ว่าใครมีความรู้และมีความสามารถในการปฏิบัติเรื่องดังกล่าวได้มากน้อยเพียงใด โดยสมองซีกซ้ายมีส่วนสำคัญในการแยกผู้มีความชำนาญออกจากผู้ที่ขาดคุณสมบัติ ในด้าน Soft skills ส่วนใหญ่ก็มักจะพูดถึงทักษะทางการสื่อสาร (Communication) การทำงานเป็นทีม (Teamwork) การโน้มน้าว (Persuasion) ภาวะผู้นำ (Leadership) เป็นต้น ทักษะเหล่านี้ อาศัยการเรียนรู้เป็นใบเบิกทางขั้นต้น แต่ความชำนาญเกิดจากการลองผิดลองถูกในการใช้ชีวิต ซึ่งต้องหาโอกาสประยุกต์ใช้มากกว่าการนำความรู้จากการเรียนมาใช้ตรงๆ จากมุมมองและความเข้าใจดังกล่าวทำให้เกิดการจัดกลุ่มแบบเหมารวม (Stereotyping) ว่า นักศึกษาที่จบในสาย Science, Technology, Engineering, Math (STEM) จะขาด Soft skills ดังที่เราได้ยินกันเสมอว่า พวกทำงานด้าน STEM คือพวกเด็กเนิร์ดที่จำเป็นต้องได้รับการพัฒนา Soft skills โดยไม่ค่อยมีใครพูดว่า นักศึกษาสาย Social Science, Humanities (SSH) ขาด Soft skills กันสักเท่าไหร่ นั่นก็ คงเป็นเพราะทึกทักกันเองว่า SSH น่าจะเรียนมาทางด้าน soft skills โดยตรงแล้วจึงไม่ต้องพัฒนาอีก ซึ่งการสรุปเช่นนี้เป็นการสรุปที่ทำให้เกิดผลเสียกับทั้งองค์กร และ ตัวบุคคลเป็นอย่างมาก


เมื่อเร็วๆ นี้ LinkedIn ได้นำเสนอทักษะ 10 อย่างซึ่งเป็นที่ต้องการในตลาด โดย LinkedIn ได้ใช้ AI ในการวิเคราะห์ฐานข้อมูลผู้ใช้ LinkedIn จำนวน 467 ล้านคน พบว่าผู้ใช้ LinkedIn มีทักษะหลากหลายรวม 50,000 ทักษะ โดยจำแนกและจัดลำดับทักษะจำนวนมากเหล่านี้เป็น Top 5 Soft skills และ Top 5 Hard skills ซึ่งดูเผินๆ ก็คงไม่น่าจะมีอะไรผิดความคาดหมาย เพราะทักษะในส่วนที่เป็น Soft skills ส่วนใหญ่ก็เป็นทักษะที่เราตระหนักเป็นอย่างดีว่าเป็นสิ่งที่ทำให้ คนมีคุณค่ามากกว่า หรือ ช่วยเติมเต็มสิ่งที่ AI ยังทำไม่ได้ [ในวันนี้] ได้แก่ ความคิดสร้างสรร (Creativity) การโน้มน้าว (Persuasion) การสร้างความร่วมมือ (Collaboration) ความสามารถในการปรับตัว (Adaptability) และ การบริหารเวลา (Time management) แต่สิ่งที่สะกิดใจผมเป็นพิเศษก็คือ

การบริหารคน (People Management) ได้กลายมาเป็นหนึ่งใน 5 ทักษะที่สำคัญทาง Hard skills ร่วมกับ Cloud computing, Artificial Intelligence, Analytical Reasoning และ UX Design

ซึ่งเมื่อกลับไปดูการจัดลำดับเรื่องเดียวกันในปี 2018 ก็ไม่พบ People Management อยู่ในลิสต์ 20 อันดับแรกแต่อย่างใด ที่ผมสนใจ [และสงสัย] ก็คือ LinkedIn ใช้เกณฑ์อะไรในการจัดให้ การบริหารคน เป็น Hard skills เพราะผมมีความเชื่อมาตลอดว่า EQ ซึ่งสั่งการจากสมองซีกขวาคือปัจจัยสำคัญของการเป็น People Manager ที่ดี และที่สำคัญ การบริหารคนเป็นศิลป์ที่ไม่มีกฏตายตัว และไม่ได้รับประกันว่าสิ่งที่เคยใช้และได้ผลดีกับคนหนึ่งจะคาดหวังผลดีเช่นกันเมื่อนำมาใช้กับอีกคนหนึ่งหรือในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน แต่ไม่ว่าจะใช้เกณฑ์อะไร The most in-demand skill ประจำปี 2019 ที่ LinkedIn วิเคราะห์จากฐานข้อมูลผู้ใช้ทั่วโลก ได้แสดงให้เห็นว่า เส้นแบ่งระหว่าง Soft และ Hard skills มันเริ่มเลือนมากขึ้นทุกที ในขณะเดียวกันความสำคัญของ Soft skills ก็มีเพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณควบคู่ไปกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี

มีงานวิจัยและผลการสำรวจที่สนับสนุนความสำคัญของ Soft skill มากมาย เช่น

  • หนังสือ Emotional Intelligence at Work ซึ่งเขียนโดย Daniel Goleman ชี้ว่า ถ้า IQ เป็นตัวชี้วัดสำคัญของทักษะทางเทคนิคแล้ว EQ ถือเป็น critical success factor ที่สำคัญ (90%) ที่จะทำให้คนเติบโตก้าวหน้าในระดับที่สูงขึ้นได้ และในหนังสือเดียวกันนี้ยังพบข้อสรุปจากการศึกษาบริษัทชั้นนำกว่า 200 แห่ง พบว่า EQ (ซึ่งสั่งการจากสมองซีกขวา) มีความสำคัญในการระบุว่าใครเป็นผู้มีผลงานดี (Good performer) คิดเป็นสองเท่าของ IQ ในขณะที่ EQ มีความสำคัญมากกว่า IQ สี่เท่าในการระบุว่าใครมีความเหมาะสมและจะประสบความสำเร็จในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง

  • การศึกษาเรื่อง Skill Shift Automation and the Future of the Workforce โดย McKinsey Global Institute ชี้ว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า นอกจาก ทักษะทางดิจิทัลพื้นฐานและการใช้โปรแกรมทางคอมพิวเตอร์ชั้นสูงที่คนต้องพัฒนาให้ชำนาญแล้ว คนจะใช้เวลาในการทำงานที่อาศัย soft skill มากขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน โดย soft skill เหล่านี้ ได้แก่ ทักษะการสื่อสารขั้นสูง(advanced communication), การเจรจาต่อรอง (negotiation), ภาวะผู้นำ และ การบริหารทีม (leadership and managing others), การคิดแบบผู้ประกอบการ (entrepreneurship and initiative taking) , การปรับตัวและเรียนรู้ (adaptability and continuous learning), การสอนและชี้แนะผู้อื่น (training and teaching other)

  • บทความซึ่งเผยแพร่ใน Bloomberg BusinessWeek เมื่อเดือน กุมภาพันธ์ 2018 ชี้ว่า แม้งานในกลุ่ม Science, Technology, Engineering และ Math (STEM) จะโตมากในช่วงปี 1980-2000 แต่ ข้อมูลการวิจัยพบว่า ตำแหน่งงานซึ่งเป็นที่ต้องการในตลาดในอนาคตคือตำแหน่งงานที่อาศํยทักษะทางด้าน Soft skills เป็นหลัก โดยระบุอย่างชัดเจนว่า STEM ยังมีความสำคัญอยู่ แต่ไม่พอที่จะรับประกันว่าผู้มีคุณสมบัติและคุณวุฒิด้าน STEM จะได้งานที่ดี (strong cognitive skills are increasingly a necessary –but not a sufficient condition for obtaining a good, high-paying job, you also need to have social skills)

Soft skills ไม่ได้มีความสำคัญเฉพาะกับงาน non-technical เท่านั้น ในงาน technical role ซึ่งเคยให้ความสำคัญกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอย่างสุดขั้วอยู่พักใหญ่ ต่างก็เห็นความสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีที่มี “คน” เป็นศูนย์กลางของความคิดมากขึ้นทุกที Harvard Business Review เดือน กุมภาพันธ์ 2016 เรื่อง The soft skills of great digital organization ระบุว่า ในยุคที่ เทคโนโลยีเป็นแกนกลางของการเปลี่ยนแปลงในการสร้างนวัตกรรม และ ปรับโมเดลทางธุรกิจ ปัจจัยแห่งความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่ software หรือ hardware แต่อยู่ที่ wetware ซึ่งก็คือ กระบวนความคิด (human brain cell and thought process) ซึ่งส่งผลถึงความสามารถในการปรับตัวของคนในองค์กรให้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้สูงสุด ดังตัวอย่างจากวงการเทคโนโลยีทางการแพทย์สะท้อนภาพดังกล่าวได้อย่างชัดเจนว่า การออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยีต้องมีศุนย์กลางอยู่ที่คนไข้ ทั้งนี้เทคโนโลยีจะช่วยทำให้แพทย์และพยาบาลทำงานได้สะดวกขึ้น เพื่อจะได้มีเวลามากขึ้นในการพูดคุยกับคนไข้ข้างๆเตียง ดังนั้นทักษะสำคัญจึงไม่ใช่การใช้เทคโนโลยี และเป็นทักษะการรับฟัง ความเห็นอกเห็นใจ และการวิเคราะห์อย่างมีเหตุผลและมีขั้นตอน หากเราพิจารณา Key word ของโลกยุคดิจิตอลจะพบว่าทุกอย่างมีพื้นฐานที่ Human skill หรือ Soft skills โดยทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น การเปิดรับอย่างเข้าใจ (Emphathy) ที่เป็นขั้นตอนสำคัญที่สุดของ Design Thinking หรือแม้แต่ ระบบนิเวศน์(Ecosystem), เศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (sharing economy), ปัญญากลุ่ม (collective intelligence) จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าขาด ความร่วมมือของทุกระดับ (Collaboration) และในโลกที่ทุกคนต่างเข้าถึงและมีข้อมูล ทักษะในการโน้มน้าวคือสิ่งที่จะสร้างความแตกต่างว่าข้อมูลของใครที่จะได้รับการยอมรับ


คำพูดที่เรามักได้ยินเสมอก็คือ Hard skills land you interview เพราะเราจะใส่คุณสมบัติการศึกษา และใบรับรองความสามารถในประวัติย่อ (cv.) ของเราซึ่งจะสร้างความประทับใจให้ผู้คัดเลือกเรียกมาสัมภาษณ์ แต่ Soft skill will get you job เพราะทักษะที่เราใช้เพื่อตอบคำถามรวมทั้งอวจนะภาษาทั้งหลายในระหว่างการสัมภาษณ์คือตัวตัดสินว่าเราเหมาะกับตำแหน่งงานและองค์กรนั้นหรือไม่ แต่ในยุคดิจิทัลที่กระแสการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างมีผลทำให้เส้นแบ่งระหว่าง Hard และ Soft skills ค่อยๆ เลือนลงไปจนแยกไม่ค่อยออกนั้น ผมเชื่อ (โดยส่วนตัว)ว่า Hard skills จะทำให้เราทำงานได้ ( get the job done) แต่ Soft skills จะทำให้เราทำงานดี และเติบโต (get the job well done and advance your career) สิ่งที่น่ากลัวก็คือ การทำงานได้ ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าเราจะอยู่รอด (job secured) เพราะหากในอนาคต มีสิ่งที่ทำงานได้ แทนเรา ไม่ว่าจะเป็น หุ่นยนต์, ปัญญาประดิษฐ์ หรือแม้แต่ การใช้เอาท์ซอร์ท และฟรีแลนเซอร์ ทดแทน ความสำคัญและคุณค่าของเราที่องค์กรเคยต้องการก็จะเปลี่ยนแปลงไป การพัฒนา soft skills ให้คมและเฉียบอย่างต่อเนื่องจึงเป็นการรักษาคุณสมบัติที่ทดแทนได้ยากซึ่งเป็นที่ต้องการขององค์กรอย่างยั่งยืนต่อไป


แจ๊ค มา ผู้ก่อตั้ง Alibaba กล่าวว่า “เราไม่สามารถสอนลูกหลานเราให้มีความสามารถแข่งกับหุ่นยนต์ได้ ดังนั้นเราจงควรจะสอนสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ซึ่งหุ่นยนต์ไม่มีวันพัฒนาให้เท่าทันมนุษย์ได้
1,509 views0 comments

Recent Posts

See All

Comentarios


bottom of page